บุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลกหลายๆคน ล้วนให้ความสำคัญต่อการตั้งเป้าหมาย บางคนอาจจะคิดว่าชีวิตเราไม่มีทางเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากกว่านี้
แต่ในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนสามารถเลือกเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยการตั้งเป้าหมาย และค่อยๆเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปทีละน้อยจากความสำเร็จเรื่องเล็กๆไปสู่เรื่องใหญ่ค่ะ
การที่รู้จักตั้งเป้าหมายจะทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้ง่ายขึ้น และทุกครั้งที่เราทำสำเร็จในแต่ละขั้นนั้น จะทำให้รู้สึกมีความสุขและมีกำลังใจที่จะต่อสู้ไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่ต้องการ
และต่อไปนี้เป็นเทคนิค 12 ขั้นตอนการตั้งเป้าหมายสู่ความสำเร็จค่ะ
1)ตัดสินใจให้ชัดเจนว่าคุณต้องการอะไรบ้างในแต่ละด้านของชีวิต
เป็นการตัดสินใจว่าคุณต้องการตั้งเป้าหมายในชีวิตอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น
เป้าหมายด้านรายได้ -ต้องการหารายได้เท่าไหร่ในปีนี้ ปีหน้า หรือ 3 ปีข้างหน้านับจากวันนี้
เป้าหมายด้านครอบครัว -อยากมีรูปแบบชีวิตสำหรับครอบครัวและตัวเอง
เป้าหมายด้านสุขภาพ -อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างไร
เป้าหมายด้านอื่นๆ
จากนั้นให้ลำดับเป้าหมายสำคัญที่สุด 3 อันดับแรกออกมา
2)เป้าหมายต้องวัดผลได้
เป้าหมายต้องชัดเจน วัดผลได้ มีหลักการวัดผล ตลอดจนการสรุปผลออกมาได้ชัดเจน มีหลักการประเมินการคำนวณอย่างชัดเจน ตัวเลขมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ข้อมูลลอยๆ
การทำให้เป้าหมายวัดได้ด้วยตัวเลขจะทำให้เห็นว่าคุณเข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยแค่ไหน สำเร็จหรือไม่อย่างไรค่ะ
3)กำหนดเส้นตาย (deadline)
การกำหนดเส้นตายจะทำให้ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ดังนั้นหากจะตั้งเป้าหมายอะไรต้องกำหนดเส้นตายไว้เสมอ กรณีเป้าหมายเป็นงานใหญ่ สามารถแบ่งงานออกเป็นเป้าหมายย่อยๆได้ เมื่อทำเป้าหมายย่อยสำเร็จแล้วจะทำให้คุณเกิดกำลังใจ มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะทำเป้าหมายอื่นๆต่อไป
4)ระบุอุปสรรคที่ต้องเอาชนะเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
นำกฏ 80/20 เป็นหลักคิดคือ 80% ของเหตุผลที่เป็นอุปสรรคให้ไม่บรรลุเป้าหมายมักมาจากภายในตัวเราเอง เช่น การขาดความรู้ ทักษะ ความมั่นใจ ฯลฯ ส่วนอีก 20% เป็นเรื่องเหตุผลภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา ดังนั้นจงเริ่มที่ตัวเราเองสำคัญที่สุดค่ะ
5)ระบุองค์ความรู้ ข้อมูล ทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบุทักษะสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตมากที่สุด ทักษะอะไรที่หากพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้วจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายที่สำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นทักษะอะไรก็ตามให้เขียนออกมา กำหนดเป็นแผนการและทำมันทุกวัน
6)ระบุคนที่สามารถร่วมมือหรือช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้
ให้จดรายชื่อทุกคนในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณหรืออยู่แวดล้อมตัวคุณที่จะช่วยให้เป้าหมายสำเร็จ เริ่มจากรายชื่อคนในครอบครัว คนที่จะคุณต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ซัพพลายเออร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้ารายสำคัญที่มีผลต่อยอดขายสินค้าที่คุณต้องการ
ในการบรรลุเป้าหมายใหญ่ คุณต้องการคนที่สนับสนุนคุณ ในแต่ละช่วงเวลาหรือสถานการณ์ แต่ให้นึกถึงการตอบแทนกลับคืนหรือช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นกลับเมื่อมีโอกาส
บุคคลที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือคนที่สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเครือข่ายผู้คนที่เขาจะช่วยเราและเราสามารถช่วยเหลือเขาตอบแทนนั่นเองค่ะ
7)ให้เขียนสิ่งที่จะต้องทำทั้งหมดเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ทั้งข้อมูลอุปสรรคที่ต้องแก้ปัญหา ความรู้หรือทักษะที่ต้องพัฒนา บุคคลที่ต้องหามาร่วมงานด้วย จดรายละเอียดทุกขั้นตอนที่ต้องนึกออกเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด เมื่อไหร่ที่คิดสิ่งใหม่ๆได้ให้จดเพิ่มเข้าไปในข้อมูลจนกว่าจะสมบูรณ์
จากนั้นคุณจะเห็นว่าสิ่งที่คุณจะต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายยังห่างไกลกับปัจจุบันมาก แต่ให้ยึดคติว่า การเดินทางพันไมล์ ต้องเริ่มต้นจากก้าวที่หนึ่ง หรือหนทางนับหมื่นลี้ ต้องเริ่มต้นด้วยก้าวแรก
ดังนั้นไม่มีใครที่จะสำเร็จในชั่วข้ามคืน ทุกอย่างต้องใช้เวลาซึ่งอาจนานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะบรรลุเป้าหมาย จึงต้องอดทนและตั้งใจค่ะ
8)จัดระบบสิ่งที่ต้องทำโดยเรียงลำดับและความสำคัญ
ลำดับก่อนหลัง – เรียงลำดับสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดทำทีหลัง
สิ่งที่สำคัญและไม่สำคัญ -ให้แยกรายการสิ่งที่สำคัญมาก และสำคัญน้อยกว่าออกมาให้ชัดเจน
นำกฏ 80/20 เป็นหลักคิดคือ ผลงานส่วนใหญ่ 80% มาจากกิจกรรมที่ทำ 20%
ในทางกลับกัน 20/80 คือ ปริมาณเวลาที่คุณใช้วางแผน 20% ส่งผลต่อเวลาที่เหลืออีก 80% ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ ดังนั้นการวางแผนการให้ดีจึงสำคัญมากค่ะ
9)จัดระบบสิ่งที่ต้องทำโดยเรียงลำดับและความสำคัญ
แผนรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนล่วงหน้า และขั้นตอนที่ต้องทำในแต่ละแผนการ
วางแผนรายเดือนให้เสร็จตั้งแต่เริ่มต้นเดือน
วางแผนรายสัปดาห์ให้เสร็จก่อนเริ่มสัปดาห์นั้นๆ
วางแผนรายวันให้เสร็จก่อนเริ่มวันใหม่
ยิ่งมีความละเอียดและใส่ใจในการวางแผน ก็ยิ่งมีโอกาสทำสำเร็จโดยใช้เวลาน้อยลง ให้ระลึกไว้ว่า 1 นาทีที่ใช้วางแผนที่ดีมีค่าเท่ากับการประหยัดเวลาในการลงมือทำ 10 นาที ดังนั้นการวางแผนจะให้ผลตอบแทนความคุ้มค่าด้านเวลาทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวค่ะ
10)จัดลำดับความสำคัญของงานในแต่ละวัน เลือกงานที่สำคัญมาทำก่อน
ถามตัวเองว่าถ้าต้องเลือกงานที่ต้องทำขึ้นมาหนึ่งอย่างในวันนั้น งานชิ้นไหนสำคัญที่สุด จัดไว้เป็นลำดับที่ 1
งานที่สำคัญรองลงมาเป็นอันดับ 2 ทำเช่นนี้ไปจนได้งานที่สำคัญที่สุด 7 อันดับโดยเรียงตามความสำคัญมากสุดลงมา และเน้นทำงานสำคัญที่สุดที่มีผลต่อเป้าหมายเป็นสิ่งแรกค่ะ
11)พัฒนานิสัยความมีวินัย
เมื่อคุณเลือกงานที่สำคัญที่สุดในวันนั้นขึ้นมาทำแล้ว ให้ตั้งใจ –มีความมุ่งมั่นและแน่วแน่ว่าจะทำให้เสร็จ โดยไม่ยอมหันเหหรือเบี่ยงเบนความสนใจไปทำสิ่งอื่น จนกว่างานจะเสร็จสมบูรณ์ 100%
ความมีวินัยมุ่งมั่นที่จะทำให้งานสำคัญที่สุดจนกว่าจะเสร็จเป็นเทคนิคบริหารจัดการที่ทรงพลังทีสุด เมื่อคุณพัฒนาลักษณะนิสัยนี้ขึ้นมาได้ จะช่วยให้เกิดประสิทธิผลของงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าเทียบกับการไม่ได้ใช้เทคนิคนี้
12)ใช้พลังของจิตใต้สำนึก มโนภาพรางวัลที่จะได้รับเมื่อคุณสำเร็จ (visualize the goal)
ให้มโนภาพ จินตนาการถึงภาพความสำเร็จ การสร้างมโนภาพเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นความจริง
งานวิจัยจำนวนมากกล่าวว่า หากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น คุณจะต้องให้สมองได้รับประสบการณ์ที่จะเห็นเป้าหมายออกเป็นภาพจริง ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า “visualize the goal”
เช่น เป้าหมายอยากมีรถสักคัน ก็จินตนาการว่าตัวคุณเองได้ขับรถคันนั้นอย่างมีความสุข
หากเป้าหมายคือการท่องเที่ยว ให้จินตนาการภาพที่คุณได้ท่องเที่ยวในที่ที่คุณอยากไป
หากเป้าหมายคือการมีบ้านสวยๆ จิตนาการว่าคุณได้อยู่ในบ้านหลังนั้นว่าจะมีความสุขอย่างไร
การจิตนาการจะส่งผลต่อจิตใต้สำนึกของมนุษย์อย่างมากที่จะช่วยให้คุณมุ่งมั่นที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จ
เคล็ดลับอื่นๆสำหรับการตั้งเป้าหมาย
นำกระดาษเปล่าเขียนวันที่ไปที่ด้านบนสุดของกระดาษ จากนั้นเขียนเป้าหมายที่คุณอยากทำให้สำเร็จอย่างน้อย 10 ข้อ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้นในสิ่งที่จะทำ ให้เขียนสิ่งที่อยากเป็น อยากจะมี หรืออยากจะทำ โดยใช้เทคนิคดังนี้
- เวลาเขียนเป้าหมายให้เขียนราวกับว่าคุณบรรลุเป้าหมายที่ต้องการแล้ว เช่น
ตัวอย่างที่ 1 แทนที่จะเขียนว่า ฉันจะเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทในปีนี้ ให้เปลี่ยนเป็น ฉันเก็บเงินได้ปีละ 1 ล้านบาท
ตัวอย่างที่ 2 ฉันต้องการรถใหม่ 1 คัน เปลี่ยนเป็นฉันได้ขับรถใหม่ 1 คันเมื่อวัน/เดือน/ปี ที่กำหนด - ให้เขียนในแง่บวก เช่น ฉันจะเลิกบุหรี่ เปลี่ยนเป็น ฉันเป็นคนไม่สูบบุหรี่
- ให้เริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” เพื่อเป็นการยืนยันเป้าหมายของตัวเอง เป็นการกระตุ้นให้จิตใต้สำนึกทำงาน
สรุป
สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการตั้งเป้าหมายสู่ความสำเร็จนั้น คือ ตัวเราเองค่ะที่ต้องมีความแน่วแน่ ทำแผนการ ไม่ท้อถอย และมีวินัยที่จะปฏิบัติตามแผนอย่างต่อเนื่อง
ทุกครั้งที่ยืนหยัดเอาชนะอุปสรรคแม้ว่าจะเจอล้มเหลวหรือผิดหวัง จะฝึกให้คุณแข็งแกร่งขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ ทำให้เกิดเชื่อมั่นและภูมิใจในตัวเองที่ก้าวผ่านมันไปได้
ดังนั้นการฝึกฝนให้เคยชินที่ไม่ลดละล้มเลิกง่ายๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยแล้วจะพบว่าคุณจะมีศักยภาพที่จะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างมากเลยค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะคะ
REFERENCE:
How To Be Successful In Life by Mr.Brian Tracy