การทำมายแมพหรือการเขียนมายแมพปิ้งที่ถูกต้อง ทำอย่างไร สอนวิธีทำมายแมพปิ้งง่ายๆ สวยๆ พร้อมรูปแบบตัวอย่างการเขียน Mind Map
1.ตั้งสติ คิดถึงประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนั้น ถามตัวเองว่า กำลังจะทำบันทึกเรื่องใด หรือกำลังพยายามจะแก้ปัญหาอะไร
2.วางกระดาษเปล่าในแนวนอน เพื่อเตรียมวาดภาพแก่นแกนสำหรับการทำมายแมพ ให้ปลดปล่อยจินตนาการ สร้างภาพให้เด่นชัด ทรงพลัง
3.วาดภาพแก่นแกนที่สื่อให้เห็นเป้าหมายไว้ตรงกลาง (ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาทสำหรับกระดาษ A4) โดยไม่ต้องกังวลว่าจะวาดไม่ได้หรือไม่สวย
รูปวาดจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ส่วนรูปแบบ สีสัน และสัญลักษณ์จะทำให้มายแมพโดยรวมดูดีกว่าที่คิดไว้
4.ใช้สีอย่างน้อย 3 สีในการวาดภาพเน้นให้เห็นโครงสร้าง พื้นผิว รายละเอียดเพื่อให้มองได้ไหลลื่น สร้างภาพให้ชัดได้สะดุดตา
ลองสร้างรหัสสีเพื่อแบ่งประเภทข้อมูลและเน้นย้ำถึงความสำคัญในแต่ละเรื่อง
5.เริ่มวาดเส้นหนาๆ ชิดติดกับภาพแก่นแกน ให้มีลักษณะโค้งเรียวตามธรรมชาติ เรียกว่ากิ่งแก้ว ซึ่งจะดูคล้ายกิ่งไม้กิ่งหลักๆที่รองรับกิ่งย่อยๆที่จะเกิดตามมา
ขอย้ำว่าต้องลากเส้นกิ่งแก้วทุกเส้นต่อเชื่อมกับภาพแก่นแกน เพราะสมองทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมีการเชื่อมโยง
6.วาดเส้นกิ่งแก้วให้มีลักษณะโค้งเรียวจากใหญ่ไปเล็ก เพราะเส้นโค้งจะทำให้ดูสบายตาน่าจดจำกว่าเส้นตรงแข็งๆ
7.เขียนคำดังบนกิ่งแก้วแต่ละกิ่ง เพื่อโยงใยเข้ากับหัวเรื่อง คำบนกิ่งแก้วคือประเด็นหลัก (และเป็นการจัดลำดับพื้นฐานความคิด) ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อหา
เช่น สถานการณ์ ความรู้สึก ข้อมูล ทางเลือกต่างๆ อย่าลืมว่าต้องใช้หนึ่งคำดังต่อหนึ่งเส้น เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
เปิดโอกาสให้ความคิดอื่นๆไหลพรั่งพรูตามมา อย่าใช้วลีหรือประโยค เพราะจะทำให้คุณสับสน
8.ลองเพิ่มเส้นเปล่าๆอีกสองสามเส้น เดี๋ยวสมองก็หาคำมาเติมได้เองโดยธรรมชาติ
9.จากนั้นแตกกิ่งก้อยซึ่งเป็นกิ่งย่อยๆต่อเนื่องจากกิ่งแก้ว
- กิ่งก้อยระดับ 1 เชื่อมตรงและขยายจากกิ่งแก้ว
- กิ่งก้อยระดับ 2 เชื่อมตรงและขยายจากกิ่งก้อยระดับ 1
- กิ่งก้อยระดับ 3 เชื่อมตรงและขยายจากกิ่งก้อยระดับ 2
- สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ คือการเชื่อมโยงและประเด็นรอง คำที่คุณเลือกใช้กับกิ่งเหล่านี้อาจเป็นคำถามประเภทใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะเหตุใด เมื่อไหร่
เคล็ดลับการทำมายแมพให้ดี
1.เน้นย้ำส่วนสำคัญ
ตรงแก่นแกนต้องมีภาพเสมอ
- ภาพแก่นแกน จะเป็นศูนย์รวมสายตาและสมอง ช่วยกระตุ้นความคิด จินตนาการ และความจำ
- ภาพที่น่ามองจะช่วยทำให้คุณทำมายแมพอย่างสบายใจ และอยากกลับมาทบทวน
- ถ้าคิดหาภาพมาแทนคำไม่ได้ ก็ให้เขียนตัวหนังสือให้ดูเป็นภาพกราฟิกที่น่าสนใจ ใช้ตัวอักษรแปลกๆเน้นย้ำแรเงา เป็นตัวหนา สามมิติ ใส่สีสัน เน้นหนักเบาได้
ใช้ภาพให้มากที่สุด
- ภาพยิ่งเยอะยิ่งดี มายแมพจะยิ่งดูโดดเด่นและดึงดูความสนใจได้ดี ช่วยเปิดจินตนาการคุณให้กว้างไกล และช่วยกระตุ้นสมองทั้งสองซีกได้ดี
- ใช้สีไม่น้อยกว่า 3 สีในภาพแก่นแกน สีจะช่วยกระตุ้นความจำและความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้สมอตื่นตัว ถ้าใช้แค่สีเดียวสมองจะอยากหลับ
- เขียนภาพและคำดังให้ดูดีมีมิติ โดดเด่นเห็นชัด เพื่อให้จดจำได้ง่าย
ใช้คำเส้นและภาพที่หลากหลาย
- ตัวอักษรหลายขนาดสื่อให้เห็นถึงความสำคัญและลำดับที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี
ใช้พื้นที่ว่างอย่างเป็นระเบียบ
- จัดระเบียบกิ่งก้านบนหน้ากระดาษให้ดูดี จะช่วยสื่อถึงความสำคัญ และประเภทของความคิดได้ดี ทำให้อ่านได้ง่าย และน่าสนใจกว่าการปล่อยให้มีช่องว่างบ้าง ไม่แออัด จะช่วยทำให้มองเห็นเนื้อหาได้ชัดเจน ช่องว่างจึงมีความสำคัญต่อการสื่อสาร
2.เน้นการเชื่อมโยง
ใช้ลูกศร
- ใช้ลูกศรเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ทั้งในกิ่งเดียวกันและข้ามกิ่งได้
- ลูกศรช่วยชี้นำสายตา เชื่อมประเด็นหลักมากกว่าหนึ่งประเด็น ลูกศรสื่อถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งการเคลื่อนไหวช่วยให้จดจำและนึกถึงได้ง่าย
- ลองใช้ลูกศรหลายๆแบบ หลายๆขนาด สีสัน รูปทรงหลากหลายจะทำให้มายแมพโดดเด่นติดตา
ใช้สีสัน
- สีสันกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความจำ
- เลือกใช้รหัสสี จะช่วยให้ค้นหาข้อมูลได้เร็ว และช่วยให้จดจำได้ง่าย
- เมื่อทำมายแมพสำหรับใช้เป็นกลุ่ม รหัสสีจะช่วยให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจตรงกัน
ใช้สัญลักษณ์
- สัญลักษณ์ช่วยเชื่อมโยงและทำให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น ช่วยประหยัดเวลาและพื้นที่ในการเรียน
- สัญลักษณ์ที่ใช้ในมายแมพหรือมายแมพปิ้งมีได้หลายรูปแบบ เช่น เครื่องหมายถูก-ผิด วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือการขีด เส้นใต้ หรือจะใช้สัญลักษณืที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ก็ได้
3.ชัดเจน
หนึ่งคำดังต่อหนึ่งเส้น
- การใช้หนึ่งคำดังต่อหนึ่งเส้น จะทำให้เกิดการคิดแบบรัศมีได้ไม่รู้จบ เมื่อคุณใช้ได้คล่อง สมองจะมีอิสระสามารถระเบิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างยอดเยี่ยม
- คำดังแต่ละคำมีศักยภาพในการเชื่อมโยงไปยังคำหรือความคิดอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
- การแบ่งความคิดออกเป็นคำพูด (คำที่ไม่สามารถแบ่งย่อยได้อีกแล้ว) ช่วยเปิดโอกาสให้เชื่อมโยงไปยังคำอื่นๆ หรือภาพที่อยู่ถัดไปได้อีก และช่วยให้สมองเปิดกว้างมองหาความคิดใหม่ๆ
เขียนตัวใหญ่ (ถ้าเป็นภาษาอังกฤษใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด)
- ตัวพิมพ์ใหญ่ยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญ ทำให้เชื่อมโยงและนึกได้อย่างรวดเร็ว
- ตัวอักษรขนาดใหญ่และตัวพิพม์ใหญ่ มีรูปร่างและขนาดที่เห็นได้ชัดเจน ช่วยทำให้จดจำได้ง่าย
- ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียเวลาในการเขียนตัวพิมพ์ใหญ่ เพราะการที่คุณจำได้เยอะ นึกออกได้เร็วนั้นคุ้มค่ากว่ามาก
เขียนคำบนเส้น
- เส้นที่รองรับใต้คำดัง ช่วยแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคำภาพความคิดอื่นๆได้ชัดเจน
- คำดังไม่ควรอยู่ลอยๆ ต้องเชื่อมโยงไปยังเส้นต่อไป สมองจะได้ผลิตความคิด ผลิตคำมาวางบนเส้นต่อเนื่องๆกันไปได้เรื่อยๆ
ลากเส้นให้ยาวเท่ากับคำ
- เส้นที่ยาวเท่าคำ จะช่วยทำให้มายแมพดูสวยงามมากขึ้น และเชื่อมต่อไปยังคำต่อไปได้ง่ายขึ้น
- ประหยัดพื้นที่ เพื่อจะได้มีพื้นที่ให้การแตกความคิดใหม่ๆมากขึ้น
เชื่อมเส้นต่างๆที่เกี่ยวข้องกัน ให้ต่อเนื่องกัน และเชื่อมกิ่งแก้ว (กิ่งหลัก) ให้ติดกับภาพแก่นแกน
- เส้นเชื่อมต่อช่วยให้ความคิดเชื่อมโยงลื่นไหล
- เส้นนอกจากจะรองรับใต้คำแล้ว คุณยังสามารถวาดต่อไปให้ปลายโค้งวนกลายเป็นลูกศร ห่วง วงกลม วงรี และรูปเหลี่ยมต่างๆ ตามแต่จะจินตนาการได้
เส้นกิ่งแก้วควรเป็นเส้นหนาและโค้งเป็นธรรมชาติ
- เส้นหนาเป็นการเน้นย้ำสมองให้จดจำให้จดจ่อ ว่านี่คือประเด็นใหญ่ที่สำคัญ ถ้าตอนวาดไม่แน่ใจว่าเส้นไหนควรเป็นเส้นใหญ่ที่บ่งบอกความสำคัญ ให้วาดต่อจนเสร็จก่อน
จากนั้นพิจารณามายแมพที่ได้ แล้วค่อยกลับมาเน้นย้ำให้เส้นธรรมดาๆกลายเป็นเส้นใหญ่ที่แสดงข้อมูลสำคัญได้
สร้างรูปทรงต่างๆหรือกรอบรอบกิ่ง
- รูปทรงจะช่วยกระตุ้นจิตนาการ
- การล้อมกรอบรอบกิ่งและระบายสีจะช่วยให้จดจำรูปร่างและเนื้อหาของมายแมพได้แม่นยำขึ้น
วาดรูปให้ชัดเจนที่สุด
- ภาพยิ่งชัด ความคิดยิ่งลื่นไหล มายแมพที่ชัดเจนย่อมดูดี น่าประทับใจ และสบายตา
วางกระดาษในแนวนอน
- แนวนอน ทำให้ง่ายต่อการแตกกิ่งและสร้างสรรค์มายแมพ
- เมื่อกลับมาทบทวน ภาพแนวนอนจะอ่านได้ง่ายและเร็วกว่า
เขียนตัวหนังสือให้ตั้งตรงมากเท่าที่ทำได้
- เขียนตัวหนังสือให้ตั้งตรงไม่ว่าเส้นจะทำมุมอย่างไร เพราะจะช่วยให้อ่านง่าย ความคิดลื่นไหลได้มากและจำได้แม่น
4.จัดลำดับชั้นความสำคัญ
- โครงร่างและรูปร่างของมายแมพหรือมายแมปปิ้งมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการนำไปใช้งาน
5.ใช้ตัวเลข
- ในกรณีที่เนื้อหามีลำดับเหตุการณ์มีลำดับที่ต้องเรียงต่อกัน จะต้องวางแผนการวาดแต่ละกิ่งให้สัมพันธ์สอดคล้องกับเงื่อนไขเวลาดังกล่าว
- อาจใช้ตัวเลขกำกับกิ่ง เช่น 1 สำหรับเหตุการณืแรก 2,3,4 สำหรับเหตุการณ์ต่อๆมา
- หรืออาจจะใช้วิธีกำกับในลักษณะอื่น เช่น เรียงลำดับกิ่งตามตัวอักษร การใส่วันที่หรือเวลาของเหตุการณ์ในแต่ละกิ่ง เพื่อให้เข้าใจได้ทันที ว่าเหตุการณืหรือเนื้อหาอันไหน เรียงลำดับสัมพันธ์กันอย่างไร
6.ปรับให้เป็นสไตล์ของตัวเอง
- เราจะจดจำได้มากขึ้นถ้าสร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นมากับมือ
สิ่งที่ควรระวังในการเขียน Mind Map
สิ่งที่ควรระวังในการเขียน Mind Map มี 3 ประการ คือ
1.การเขียน Mind Map ที่ไม่ใช่ Mind Map ของแท้
ลองพิจารณารูปร่างเหล่านี้ ภาพด้านบนแสดงให้เห็นถึงการพยายามวาดมายแมพโดยที่ไม่เข้าใจพื้นฐานอย่างแท้จริง
ดูเผิน ๆ ภาพเหล่านี้ก็น่าจะใช้การได้ แต่ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่าภาพทั้งหมดละเลยต่อหลักการคิดแบบรัศมี
“ก้อนความคิด”แยกตัวเดี่ยวๆไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาอื่นๆ ไร้การเชื่อมโยง ทําให้สมองไม่ได้ระเบิดความคิดอย่างต่อเนื่อง ตัดโอกาสทางการคิดที่มีประสิทธิภาพ
ลองเปรียบเทียบกับมายแมพที่ถูกต้องตามหลักการข้างล่างนี้ดู
2.เพราะเหตุใด คำดังจึงดีกว่าวลี (กลุ่มคำ)
ภาพทั้ง 3 ต่อไปนี้ แสดงให้เห็นว่า เพราะเหตุใดการใช้วลี(กลุ่มคำ) จึงเป็นอุปสรรคต่อการทำมายแมพที่ดี
แบบแรกแสดงถึงการใช้คำ 3 คำวางเรียงบนเส้นเดียวกัน การวางในลักษณะนี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่สามารถแตกความคิดออกเป็นประเด็นอื่นๆได้เลย
แบบสองพัฒนากว่าแบบแรก มีการแบ่งแยกประโยคออกเป็น 3 คำ มีพื้นที่ให้ความคิดแตกตัวได้
แต่การเขียนเป็นคำกระตุ้นเฉพาะสมองซีกซ้าย จำกัดความคิดสร้างสรรค์ และยังมองไม่เห็นชัดว่าคำไหนกันแน่ที่เป็นประเด็นสำคัญ
แบบสุดท้ายนี้ เป็นไปตามหลักมายแมพ ไม่มียาวเหยียดดูรกตา มีการแตกตัวให้เห็นสาเหตุของความ “ไม่สบายใจ” (Unhappiness)
และยังใส่เนื้อหาเกี่ยวกับ “ความสบายใจ” (Happiness) เข้าไปด้วย มีรูปภาพทําให้น่ามองประยุกต์ปรับเปลี่ยนได้และกระตุ้นความคิดได้ดีกว่ามาก
3.วิตกกังวลว่า Mind Map จะดูยุ่งเหยิง ส่งผลให้เกิดความกังวลในการทำ Mind Map
ขณะจดบันทึกเวลาฟังบรรยาย คุณอาจไม่สามารถสร้างสรรค์มายแมพได้อย่างเรียบร้อยสวยงาม
โดยเฉพาะเมื่อผู้บรรยายขาดการลําดับที่ดี คุณจะกําหนดประเด็นหลักได้ยาก ลักษณะของมายแมพจะสะท้อนลักษณะการบรรยาย ทักษะการจับประเด็น รวมถึงสภาพจิตใจของคุณเอง
ถึงมายแมพจะดู “ยุ่งเหยิง” เพียงใด ก็ยังเก็บข้อมูลได้มาก และทําความเข้าใจได้ดีกว่าการจดบันทึกทุกคําบรรยายตามแบบดั้งเดิม
เมื่อการบรรยายจบลง สละเวลาอีกเล็กน้อยจัดระเบียบปรับปรุง Mind Map ให้ดูดีขึ้นได้ด้วย
- ลูกศร
- สัญลักษณ์
- สีเน้นย้ำ
- รูปภาพ
และอื่นๆเพื่อให้เห็นการจัดลําดับความคิดพื้นฐาน (BOIs) และความสําคัญได้ชัดเจน อย่าลืมเชื่อมโยงและใส่สีลงไปด้วย
ถ้าเรื่องที่เขียนสําคัญจริงๆขอให้คุณเขียนมายแมพขึ้นมาใหม่ ตามหลักการทำมายแมพดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การเขียนซ้ําๆจะช่วยให้จดจําเนื้อหานั้นได้แม่นยําขึ้น
คลิปสอนการเขียน Mind Map
กฎการเขียน Mind Map ตัวอย่างและการฝึกเขียน Mind Map
Reference: credit image and info from
- Wikipedia Tony Buzan
- the mind map book by Tony Buzan and Barry Buzan
- mind map mastery book by Tony Buzan