Critical Thinking คือ การคิดเชิงวิพากษ์ คำว่า “วิพากษ์” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่าคือ การพิจารณาตัดสิน แต่บางท่านก็แปลความหมาย Critical Thinking ว่าคือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
การคิดเชิงวิพากษ์เป็นเรื่องของกระบวนการคิดที่เราใช้ในการตั้งคำถาม กล้าที่จะคิดแตกต่างจากเดิม กล้าที่จะสงสัย กล้าที่จะท้าทายข้อมูลที่มีอยู่
การคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้เราสามารถตอบได้ว่าสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่นั้นมีที่มาจากอะไร อ้างอิงมาจากอะไรได้บ้าง ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูล หรือไม่สามารถอธิบายได้ว่าเราตัดสินใจเพราะอะไร
ซึ่งตรงกับหลักคำสอนในพุทธศาสนา ที่สอนให้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนจะตกลงใจเชื่อในสิ่งใด
และความคิดแบบนี้ต้องอธิบายได้ด้วยนะครับว่าเหตุใดจึงเชื่อในสิ่งที่คิด และถ้าไม่เชื่อในสิ่งที่คิดก็ต้องให้เหตุผลได้ด้วยว่าไม่เชื่อเพราะเหตุใด
ต้องมีหลักฐานอ้างอิงประกอบด้วยครับว่าเชื่อหรือไม่เชื่อเพราะเหตุใด ไม่ใช่ยึดตามความคิดของตัวเองฝ่ายเดียว
ทำไมการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญ
1 เพื่อให้มีความสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่แน่นอนได้ดีขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆรวดเร็วมาก อย่างที่มักได้ยินคำว่า VUCA World ซึ่งย่อมากจาก Volatility (ความผันผวน) Uncertainty (ความไม่แน่นอน) Complexity (ความสลับซับซ้อน) และ Ambiguity (ความคลุมเครือ) ทำให้ผู้คนต้องการทักษะการคิดที่จะมารับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ การมีข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาหาตัวเรามากมายไปหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลข่าวสารนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ หากเราไม่มีวิธีเครื่องมือช่วยคิดที่ดี โอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดก็มีมาก
ดังนั้นหากเรามีทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ เราก็จะมีความสามารถที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ด้วยความรอบคอบมากขึ้น
2 ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ออกจาก Comfort Zone เดิม
การคิดเชิงวิพากษ์เป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้น จากข้อมูลที่ได้รับ เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ โดยการตั้งคำถามว่าอาจจะเป็นอย่างอื่นได้ไหม หรือจะมีข้อมูลอื่นไหมที่จะมาใช้ประกอบกับการคิดนี้ กล้าตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำอย่างนี้
คำว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะขัดแย้ง แต่ตั้งคำถามให้เราสามารถวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ และหาข้อมูลอื่นๆมาประกอบมากกว่าข้อมูลที่มีอยู่ หรือสิ่งที่ได้รับก่อนปัจจุบัน
หากเราวิพากษ์ไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มุมมองแนวคิดข้อมูลเพิ่มเติม การคิดเชิงวิพากษ์จะทำให้เราสามารถตอบเหตุและผลของสิ่งที่เราตัดสินใจได้
ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราคิดเชิงวิพากษ์จนกระทั่งมีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจ ดังนั้นทุกการตัดสินของคนที่คิดเชิงวิพากษ์ จะต้องตอบได้ว่ามาจากข้อมูลหลักการ หรือแนวคิดอะไรที่เป็นต้นทางของการตัดสินใจเรื่องนั้น
ดังนั้นเวลาเราเจอปัญหาเราอาจจะเป็นนักแก้ปัญหา แต่การคิดเชิงวิพากษ์ช่วยให้เราหยุดการแก้ปัญหาแบบเดิมๆไว้ก่อน เพราะอาจจะมีวิธีการอื่นๆ หากมีข้อมูลประกอบอื่นๆเพิ่มเติม
อาจจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้หากเรากล้าวิพากษ์วิธีที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ตรงจุดนี้ครับการคิดเชิงวิพากษ์ไม่ใช่การขัดแย้ง แต่เป็นการกล้าคิดอีกอย่างหนึ่ง กล้าสงสัยว่าต้องเป็นอย่างนี้เหรอ กล้าที่จะท้าทายสิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่แล้วและเป็นจริงตรงนั้นว่า มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้
ดังนั้นการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นทักษะที่มีความสำคัญ และเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะนำมาใช้ เพราะคนส่วนใหญ่มักยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ หรือติดอยู่ใน Comfort Zone
แต่การคิดเชิงวิพากษ์จะต้องกล้าที่จะคิดในมุมอื่นๆ หรือออกจาก Comfort Zone เดิม ถึงแม้ข้อมูลที่มีอยู่นั้นดีที่สุดแล้วก็ตาม
ถึงแม้การฝึกให้มีความคิดเชิงวิพากษ์จะค่อนข้างยาก แต่หากพัฒนาจนเป็นทักษะติดตัวแล้วเชื่อมั่นได้เลยครับว่าจะช่วยให้สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ หรือสามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างแน่นอน
เพราะเราไม่ยึดติดกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ หรือความจริงที่เรามี แต่เรากล้าที่จะตั้งคำถามตั้งข้อสงสัยทำเรื่องท้าทายเพิ่มขึ้นครับ ดังนั้นการคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical Thinking จะมีความสำคัญกับโลกยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก
3 ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้เราจัดการกับความเชื่อเดิมๆของเรา
โดยการตั้งคำถามว่าถ้าเป็นอย่างอื่นล่ะ และมีข้อมูลอะไรที่มาอ้างอิงบ้างถึงต้องเป็นอย่างนี้ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะค้นหาแนวทางที่ใหม่ๆ
เนื่องจากถ้าเรายังใช้หลักการคิดเดิมๆกับสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่เราคาดหวัง และถ้าเรายังยึดติดกับความคิดเดิมๆ หรือแนวทางปฏิบัติแบบเดิมๆ ก็จะทำให้เราไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
ดังนั้นการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นสกิลที่มีความสำคัญมาก สำหรับบุคลากรในยุคนี้
ดังนั้นหากบุคลากรสามารถที่จะสร้างทักษะหรือสกิลของการคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical Thinking ได้ ก็จะทำให้สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายไม่ว่าสถานการณ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
4 มีความสามารถไตร่ตรองแยกแยะข้อเท็จจริงได้ดีขึ้น
คนที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ จะเข้าใจว่าข้อมูลที่ได้รับมา อาจจะมีข้อเท็จแฝงปนอยู่กับข้อจริงได้เสมอ
แต่สามารถแยกแยะข้อมูลที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน หรือข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความจริง
ทั้งนี้ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างๆของตัวบุคคล ประสบการณ์ที่ผ่านมา และการฝึกฝนทักษะนี้อยู่บ่อยๆอีกด้วย
ประโยชน์ของการมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
บุคคลที่รู้จักนำทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันย่อมเกิดประโยชน์ดังนี้
มีความมั่นใจในการเผชิญต่อปัญหา สามารถตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม มีบุคลิกภาพดี
ทำให้เป็นคนสุขุมรอบคอบละเอียดลออ ช่วยพัฒนาวิธีคิดอย่างมีเหตุมีผล ส่งผลให้สติปัญญาเฉียบแหลม เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่บนหลักของเหตุและผล
Critical Thinking มีขั้นตอนอย่างไร
Critical Thinking มี 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ขั้นที่ 1 ระบุประเด็นเพื่อกำหนดประเด็นของปัญหา
- ขั้นที่ 2 รวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจ
- ขั้นที่ 3 วิเคราะห์ จัดระบบข้อมูล แยกแยะ ความแตกต่างของความคิดเห็น การแปลและอธิบายปัญหา
- ขั้นที่ 4 ประเมินความสมเหตุสมผลของข้อมูล
- ขั้นที่ 5 สรุปข้อมูล และพิจารณาทางเลือกที่สมเหตุสมผล
สรุป
การคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical Thinking คือ ทักษะแห่งอนาคตที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
เนื่องจากเรากำลังอยู่ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากเกินไป ทำให้ต้องพิจารณาให้ได้ว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อถือ
เพราะถ้าเราตัดสินใจทำตามข้อมูลแล้วผิดพลาดขึ้นมา ย่อมส่งผลเสียกับองค์กรและตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม Critical Thinking เป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนให้มีขึ้นได้
ซึ่งโดยปกติธรรมชาติแล้ว มนุษย์มักจะตัดสินใจตามใจตัวเองเสมอครับ โดยมักยึดติดกับประสบการณ์เดิมๆหรือที่เคยเชื่อกันมา
แต่เมื่อฝึกทักษะนี้ได้มากๆก็จะทำให้เป็นคนที่มีเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ซึ่งในโลกยุคใหม่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะการคิดแบบ Critical Thinking ไว้มากๆครับ
Reference:
Wikipedia -Critical Thinking
Psychology Wiki
ทักษะ Soft Skill ที่จำเป็นในการทำงานยุคดิจิทัล