Soft Skills คือ ทักษะที่สำคัญของผู้นำและคนทำงานยุคใหม่ ที่จะช่วยให้บุคคลากรสามารถร่วมงานกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อความสำเร็จในงานตามที่องค์กรมุ่งหวัง
ในบทความนี้ จะมีคำอธิบายเพื่อให้คุณผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า Soft Skills คืออะไร หมายถึงหรือแปลว่าอะไร ,
Hard Skills คืออะไร, Soft Skills แตกต่างจาก Hard Skills อย่างไร หร้อมทั้งตัวอย่างในการวัดผล, Soft Skill มีอะไรบ้าง, 6 เหตุผลสำคัญ ว่าทำไมต้องมี Soft Skills พร้อมตัวอย่างประกอบ
หัวข้อในบทความ
Soft Skills คือ ทักษะที่สำคัญอันประกอบไปด้วยคุณสมบัติภายในที่ดีของมนุษย์ที่ล้วนส่งผลดีแก่ตนเอง เพื่อนร่วมงาน ช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้ดีกว่าเดิม และยังส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคมอีกด้วย
เวลาที่เรากล่าวถึงคำว่า “ทักษะ”(Skill) เราจะสามารถรู้ได้เลยว่า นี่คือสิ่งที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้
เมื่อเราเรียนรู้และฝึกฝนตนเองให้มี Soft Skills เราจะมีความเข้าใจและมีความสามารถที่จะนำเอาทักษะต่างๆเหล่านั้น ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตและการทำงานให้มีความ Soft หรือ อ่อนโยน ต่อความรู้สึกของตนเองและผู้คนรอบข้างได้เป็นอย่างดี
หากบุคลากรในองค์กรต่างๆมี Soft Skills เป็นพื้นฐาน บุคลากรในองค์กรนั้นๆ จะกลายเป็นคนคุณภาพ เข้าอกเข้าใจลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร ช่วยให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสอดคล้องกัน
ในหลายๆครั้งเราจะพบว่า Soft Skills มักจะเป็นทักษะที่เป็นนามธรรม เพราะเป็นเรื่องของความสามารถในเชิงลึกที่สัมพันธ์กับคุณสมบัติและการให้คุณค่าจากภายในตัวมนุษย์ ที่หากเราดูคนๆนึงแบบเผินๆ เราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่าเค้ามีทักษะนั้นๆอยู่
หากเปรียบให้เห็นภาพ Soft Skills ก็คงจะคล้ายกับ Software ที่อยู่ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบต่างๆ ที่แต่เดิมที่เรามี Software เก่าที่เคยติดตั้งไว้ใช้งานก่อนหน้านี้แล้ว พบโลกเปลี่ยนไป ความต้องการการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆยิ่งมีมากยิ่งขึ้น
เราจะต้อง Up Grade Software เสียใหม่ เพื่อให้มีความสามารถในการพัฒนาระบบและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ดีมากขึ้น Smooth มากขึ้น ถึงแม้ว่าตัว Hardware จะยังคงเหมือนเดิม แต่ความสามารถกลับเพิ่มขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานอื่นๆที่แตกต่างกันได้อีก
คำว่า Soft Skills จึงเป็นคำจำกัดความโดยรวมที่สื่อถึงทักษะหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของมนุษย์ ที่ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจกับตัวเองได้ดี สามารถการบริหารจัดการอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและประสบความสำเร็จไปเป็นทีมได้อย่างราบรื่น
Hard Skills คือ ทักษะความรู้ที่เราร่ำเรียนมาหรือศึกษาหาความรู้มาจนเกิดเป็นความสามารถในการประกอบวิชาชีพเพื่อใช้ปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ
เช่น คนเป็นนักบัญชีก็ต้องมีความรู้ในการตรวจงบและจัดทำบัญชี, คนเป็นหมอต้องมีทักษะในด้านการรักษาโรค, คนเป็นวิศวะโยธาต้องมีทักษะในการออกแบบวางแผนและควบคุมงานก่อสร้าง,
คนเป็นสถาปนิกต้องมีทักษะในการออกแบบโครงการก่อสร้างต่างๆ, คนเป็นพ่อครัวต้องมีทักษะในการประกอบอาหาร, คนเป็นทนายต้องมีทักษะในการว่าความ เป็นต้น
ตัวอย่างบางส่วนของทักษะด้าน Hard Skills
แต่ความเป็นจริงในโลกของการทำงานเราจะเก่งเฉพาะทักษะด้าน Hard Skills เพียงอย่างเดียวไม่ได้
เพราะหากเราเรียนจบมาได้เกรดเฉลี่ยสูงลิ่ว แต่กลับมีเพียงทักษะด้าน Hard Skills ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เราก็จะเป็นคนเก่งที่ทำงานเก่งด้วยตัวคนเดียว แต่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆไม่ได้
ถ้าไม่มีทักษะการสื่อสารที่ดี ก็จะกลายเป็นคนที่พูดจาไม่รู้เรื่องหรือพูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ ทำให้ผู้ร่วมงานเสียความรู้สึกอยู่เป็นประจำ
ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้เป็นไปโดยเจตนา แต่เพราะขาดความสามารถในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น ยิ่งถ้าหากไม่มีทักษะการควบคุมอารมณ์ที่ดีก็จะยิ่งไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย และต้องกลายเป็นบุคคลที่โดดเดี่ยวในองค์กรที่ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพไปวันๆในที่สุด
ในอีกทางหนึ่ง ในขณะที่เราอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนเก่งหรือเชี่ยวชาญทักษะด้าน Hard Skills มากนัก แต่เป็นคนที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills ติดตัวมาด้วย
เช่น เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำงานเป็นทีมและสื่อสารได้ดี มีความสามารถในการยับยั้งช่างใจและควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม
ผลที่ตามมาก็คือ เราจะกลายเป็นคนที่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้ดีกว่า สามารถพัฒนาทักษะของตนเองไปพร้อมๆกับทีม ได้รับความเอ็นดูและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่มากกว่า และมีโอกาสเติบโตเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า
Hard Skills เป็นทักษะทางวิชาชีพที่ใช้เฉพาะกับงานด้านนั้นๆ เช่น นักบัญชีต้องมีทักษะความรู้ในด้านการทำบัญชี ในขณะที่ทักษะการทำบัญชีอาจไม่ใช่ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในแผนกอื่นๆ
Hard Skills เป็นทักษะที่สามารถวัดผลได้ง่าย เช่น วัดเป็นเกรด ผลการปฏิบัติงาน ระดับความรู้ความสามารถในวิชาชีพนั้นๆ ความสามารถในการใช้เครื่องมือต่างๆ
นายจ้างสามารถดู Hard Skills ของผู้สมัครงานได้จากผลการเรียน ใบปริญญาบัตร ใบรับรองวุฒิบัตร
การวัดผล : Hard Skills เป็นทักษะที่วัดผลได้ง่าย สามารถระบุออกมาเป็นคะแนนหรือระดับของความรู้ความสามารถ
เนื่องจากเป็นทักษะที่มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน วัดผลเป็นตัวเลขได้ง่าย โดยปกติจึงมักจะเป็นการเก็บข้อมูลทางสถิติอย่างเจาะจงในงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ ที่ผู้ถูกฝึกทักษะจะถูกฝึกสอนซ้ำๆเพื่อให้เกิดทักษะความเชี่ยวชาญในระบบงานนั้นๆ
การวัดผลนี้สามารถทำได้ด้วยการสอบประเมินในขณะที่ดำรงอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือจะเป็นในช่วงของการฝึกงานเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ซึ่งสามารถประเมินผ่านใบ resume, วุฒิบัตร, ใบรับรองการศึกษา, ใบรับรองระดับความสามารถทางวิชาชีพ และจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งงานที่สมัคร ไปจนถึงการประเมินทักษะความสามารถในขณะที่ได้เข้าไปทำงานนั้นๆแล้ว
Soft Skills เป็นทักษะที่เป็นคุณสมบัติภายในที่ดีของมนุษย์เป็นหลัก ทำให้มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างราบรื่น
และเมื่อมีทักษะเหล่านี้แล้ว บุคคลนั้นๆจะสามารถนำทักษะที่มีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายสาขาอาชีพ
เช่น การมีทักษะในการติดต่อสื่อสารที่ดี ก็ไม่ได้จำกัดประโยชน์เฉพาะงานใดงานหนึ่งเท่านั้น และเมื่อเรามีทักษะด้าน Soft Skills แล้วเราก็จะสามารถเพิ่มโอกาสความสำเร็จทั้งในงานปัจจุบันและรวมถึงงานอื่นๆในอนาคตได้อีกด้วย
การวัดผล : Soft Skills เป็นทักษะที่วัดผลได้ยากกว่า มีความเป็นนามธรรมสูงเพราะเป็นทักษะที่เกิดจากคุณสมบัติภายใน ทักษะด้าน Soft Skills หลายอย่างจึงไม่สามารถออกใบรับรองหรือใบวัดผลความรู้ออกมาได้ชัดเจนเป็นตัวเลขแบบ KPI
ในหลายๆองค์กรจึงสร้างตัวชี้วัดด้วยการวัดผลเชิงพฤติกรรมหรือใช้การเก็บข้อมูลแบบ 360 องศาเข้ามาช่วยอีกแรง
โดยสามารถประเมินผ่านการสัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการทำงาน พฤติกรรมส่วนบุคคล ทัศนคติ บุคลิกลักษณะ และพิจารณาถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมารวมไปถึงการสื่อสารของผู้ถูกสัมภาษณ์ตลอดช่วงเวลาในการสัมภาษณ์นั้นๆ
โดยสรุปในภาพรวม Hard skills มักจะเป็นทักษะความสามารถในการใช้เทคนิคต่างๆ ในการทำงาน ที่สามารถสอนและวัดผลความรู้หรือความสามารถนั้นออกมาได้เป็นตัวเลขเชิงสถิติได้ชัดเจน
ในขณะที่ Soft Skills นั้นเป็นทักษะที่วัดผลเป็นตัวเลขได้ยากกว่า มีความเป็นนามธรรม เป็นคุณสมบัติภายใน ไม่มีใบรับรองหรือใบวัดผลความรู้หรือเกรดที่ระบุออกมาได้ชัดเจน
แต่เมื่อพัฒนาจนกลายเป็นทักษะได้แล้ว จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวางโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่งานใดงานหนึ่งเท่านั้น เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสาร, ความสามารถในการปรับตัว, ภาวะผู้นำ, การแก้ปัญหาและตัดสินใจ, ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น
Hard Skills
Soft Skills
ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาต่างๆ เร่งผลิตบัณฑิตป้อนสู่ตลาดวิชาชีพ คล้ายการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม
โดยมุ่งเน้นการสร้างทักษะความรู้ทางวิชาชีพหรือ Hard Skills เป็นอย่างมาก เพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานตามออเดอร์ โดยขาดการให้ความสำคัญในการให้ความรู้และพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills ให้แก่เยาวชนมากเพียงพอ
ส่งผลให้ประเทศเราได้คนที่จบมาจากสถาบันการศึกษาที่เก่งแต่ทักษะด้านการงานออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ขาดทักษะด้านการบริการอารมณ์และความสัมพันธ์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการทำงานของบุคลากรองค์กรและทำให้องค์กรต้องเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายที่ต้องตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน
การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรของบริษัทหลายแห่งในยุคปัจจุบัน จึงใช้วิธีดูว่าบัณฑิตจบใหม่มีทักษะด้าน Soft Skills หรือไม่
โดยสังเกตจากพฤติกรรมและกิจกรรมในระหว่างการเรียนในสถาบันการศึกษา พิจารณาประกอบกับประสบการณ์การใช้ชีวิตในการเรียนและการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อเช็คเรื่องทัศนคติในชีวิตและการทำงาน
โดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า นักศึกษาที่เคยมีประสบการณ์ในการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างการเรียนในสถาบันการศึกษา เช่น การทำงานกลุ่ม การเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม หรือการทำงานจิตอาสาต่างๆ มักจะมีทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีทักษะการวางแผนที่ดี
สามารถลำดับความสำคัญได้ดีว่าควรทำงานอะไรก่อนอะไรหลัง สามารถบริหารจัดการคนได้เก่ง มีทักษะในการนำเสนองาน และมีซอฟสกิลมากกว่านักศึกษาที่มุ่งแต่เรียนเก่งสอบได้คะแนนสูงมากแต่แทบไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมหรือทำงานร่วมกับคนอื่นเลย
ซึ่งทั่วโลกต่างยอมรับกันว่า คนที่มีไอคิวสูงเพียงอย่างเดียว ไม่อาจประสบความสำเร็จในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนหากขาดการพัฒนา Soft Skills อย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้นคนเก่งยุคใหม่ของจริงจึงต้องมีทักษะทั้ง 2 ด้าน คือ เก่งทั้งงานและเก่งทั้งคน ซึ่งนับเป็นสุดยอดบุคลากรที่พึงปรารถนาของทุกองค์กร
นักวิชาการบางท่านถึงกับเรียกทักษะด้านนี้ว่า เป็นศักยภาพในการบริหารจัดการคน (People Management Competency)
ซึ่งคนที่มีทักษะด้านนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารหรือหัวหน้างานเสมอไป พนักงานในระดับต่างๆ ก็ควรจะต้องมี Soft Skills เช่นกัน เพราะเมื่อทุกคนร่วมกันทำงานได้ดีอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่องค์กรมุ่งหวังและเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้
หากองค์กรใดมีบุคลากรที่มีทักษะแบบ Soft Skills มากๆ พนักงานเหล่านั้นจะช่วยสนับสนุนให้องค์กรนั้นๆ เป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
และแม้ว่าจะมีจำนวนพนักงานที่น้อยแต่ผลงานที่ออกมาก็จะมีประสิทธิภาพสูง เพราะบุคลากรที่มีซอฟสกิลจะช่วยลดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้มีอัตราการลาออกลดลง
เกิดการสื่อสารที่ดีและองค์กรไม่ต้องสูญเสียเวลา สูญเสียเงิน ในการคัดสรรและพัฒนาบุคลากรใหม่อยู่เรื่อยๆ
จึงกล่าวได้ว่า Hard Skills เป็นทักษะทางวิชาชีพที่จำเป็นต่อการทำงานในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ แต่ Soft Skills เป็นทักษะที่บ่งบอกว่าคุณจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในระยะยาวได้ดีแค่ไหน
ดังนั้นคนทำงานจึงต้องมีทักษะทั้ง Hard Skills กับ Soft Skills ร่วมกันจึงจะช่วยส่งเสริมให้หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้
หากเราเป็นคนหนึ่งที่อยากจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราจะพบว่างานที่เราทำโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น การมีความชำนาญแค่ทักษะทางวิชาชีพอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
ทุกอาชีพจำเป็นที่จะต้องมีทักษะ Soft skill เข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ
เช่น พนักงานขายที่มีความรู้ความชำนาญด้านการขายสินค้าและการตลาด แต่ถ้าขาดความสามารถในการเข้าใจถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ พนักงานคนนั้นก็คงไม่สามารถที่จะสื่อสารเพื่อปิดดีลหรือรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวไว้ได้
หรือยกตัวอย่างผู้ที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร จะเก่งหรือเชี่ยวชาญเฉพาะงานของตัวเอง หรือรู้จักการบริหารทีมเพียงแค่การสั่งงานหรือการควบคุมงานอย่างเดียวก็คงไม่ได้
เพราะเมื่อยุคสมัยผ่านไป ด็กรุ่นใหม่ก็จะมีเพิ่มขึ้นในองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ หากเก่งแต่งานแต่ไม่เก่งคนก็คงจะพัฒนาทีมต่อไปได้ยาก
ดังนั้นผู้บริหารในยุคใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะภาวะผู้นำ ทักษะการฟังและการสื่อสารที่ดี, มีความรับผิดชอบ, กล้าตัดสินใจ, มีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ทีมที่ทำงานร่วมกันและรู้จักใช้คนให้เหมาะสมกับงานที่ทำ เป็นต้น
งานในอนาคตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการใช้ระบบ AI , Robot และ Application ต่างๆเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ส่งผลให้ทักษะ Hard Skills ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ องค์กรต่างๆได้มีการเริ่มปรับโครงสร้างของการว่าจ้างพนักงาน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพิ่มขึ้นและลดรายจ่ายในส่วนของการจ้างพนักงานลง
ในขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและสรรหาพนักงานที่มี Soft Skills ที่ดีเข้ามาในองค์กรมากยิ่งขึ้น
เช่น คนที่มีทัศนคติที่ดี มีความพร้อมในการปรับตัว มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารและทำงานประสานร่วมกับผู้อื่นหรือแผนกอื่นๆได้
เพราะองค์กรชั้นนำต่างๆได้ตระหนักดีว่า Soft Skill คือคุณสมบัติที่สำคัญที่พนักงานต้องมี เนื่องจากมีผลต่อความสามารถของการผนึกกำลังเป็นทีมในการแข่งขันทางธุรกิจขององค์กรในระยะยาว
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทใหญ่ๆอย่าง Google จะมองหาและคัดเลือกคนที่มีความหลงใหลและรักในการเรียนรู้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และยินดีอ้าแขนรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นดัดแปลงไอเดียใหม่ๆออกมาให้เป็นจริง
หรือตัวอย่างในการคัดสรรพนักงานใหม่ของบริษัท Amazon ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ต้องการพนักงานที่มีความสามารถในการเรียนรู้และมีทักษะในการแก้ปัญหาเก่ง มาร่วมงานในองค์กร
ขณะที่โลกมีความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (artificial intelligence) หุ่นยนต์และเครื่องจักรได้เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานต่างๆ
ทั้งในระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่มีการใช้หุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมไว้มาทำงานแทนที่มนุษย์ เช่น งานประกอบรถยนต์ การจัดการคลังสินค้า หรือแม้กระทั่งการประกอบอาหาร ฯลฯ
ซึ่งปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถในการทำงานด้วยทักษะซ้ำๆที่ต้องการความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และจำนวนมากได้
แต่ยังมีงานอีกจำนวนมากที่ AI ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะพัฒนาในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกได้แบบมนุษย์
งานที่ต้องอาศัยทักษะแบบ Soft skills ที่มนุษย์เท่านั้นที่มี เช่น การรับฟังผู้อื่น, การเข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า, ความคิดสร้างสรรค์, การแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างมีมนุษย์ธรรม, การคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนในองค์กร เป็นต้น
ดังนั้นคนที่มี Soft Skill จึงกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดแรงงาน เพราะเป็นผู้ที่มีทักษะสำคัญที่หุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้
"เราไม่สามารถสอนลูกหลานเราให้มีความสามารถแข่งกับหุ่นยนต์ได้จึงควรสอนในสิ่งที่เป็นเอกลัษณ์ ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับมนุษย์ สิ่งนั้นคือทักษะ Soft Skills"
Jack ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba
ในอนาคตอันใกล้ หากตัวเราและองค์กรไม่เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถด้าน Soft Skills ของมนุษย์
ในขณะที่เทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ และ ปัญญาประดิษฐ์ ได้พัฒนาขีดความสามารถในการทำงานด้าน Hard Skills ได้ดีกว่าเรามากขึ้นเรื่อยๆ แบบก้าวกระโดด
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีล้ำหน้ามนุษย์ แต่เรากลับไม่มีทักษะความสามารถด้าน Soft Skills ติดตัว คุณค่าและความสำคัญเราในตำแหน่งงานนั้นๆ ก็จะหมดไปในที่สุด
เราจะพบว่าวิถีการทำงานสมัยใหม่ จะเป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในองค์กรสามารถประสานงานและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายได้อย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้อย่างราบรื่นก็ต่อเมื่อบุคลากรในองค์กรจะต้องมีทักษะต่างๆ ที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กันกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
เช่น การฟัง (listening) , การร่วมมือกับผู้อื่น (collaboration) , การนำเสนอแนวคิด (presenting idea) , การติดต่อสื่อสารและการทำงานเป็นทีม (Communication & Teamwork) , การสื่อสารความหมายด้วยความใส่ใจและตรงประเด็น (Truth with Care)
ดังนั้นบุคลากรในองค์กรใดใดก็ตามที่สามารถพัฒนาตนเองจนมีทักษะแบบ Soft Skills ได้ ก็จะกลายเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทำงานร่วมกันในองค์กร และจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรในโลกอนาคต
ทุกวันนี้ลูกค้ามีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางการติดต่อที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ถูกพัฒนามากขึ้น การตลาดสมัยใหม่จึงถูกนำมาใช้ในช่องทางต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งลูกค้ายังมีทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นจากการแข่งขันในการทำตลาดของคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย ได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม และมีความคาดหวังต่อสินค้าและบริการที่โดนใจมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น หากพนักงานหรือบุคลากรในองค์กรมีทักษะและความสามารถด้าน Soft Skills เช่น การรับฟังความรู้สึกและความต้องการของลูกค้า, การสื่อสารและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเหมาะสม,
การประสานงานร่วมกันเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้สึกพึงพอใจและตัดสินใจเลือกใช้สินค้าหรือบริการของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของการให้บริการแก่ลูกค้า (Customer Service) ทั้งสิ้น
องค์กรชั้นนำต่างๆ ในโลกนี้รู้ดีว่า ผู้ที่จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น (Collaboration) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในทีมของตัวเองหรือแม้กระทั่งการประสานงานและส่งมอบการทำงานข้ามสายงานของตน (Cross-Functional) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นบุคลากรที่มีทักษะทั้งด้าน Hard Skills และ Soft Skills จะมีโอกาสเติบโตขึ้นไปเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารที่เก่งทั้งงานและเก่งทั้งคนได้เป็นอย่างดี และจะเป็นบุคลากรที่องค์กรต่างๆ ต้องการตัวมาร่วมงานด้วยมากที่สุด
ซึ่งผู้นำองค์กรคนใดที่มีคุณสมบัติรอบด้านทั้ง Hard Skills และ Soft Skills จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพได้ตามเป้าหมาย
มีความสามารถในการขับเคลื่อนทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล ช่วยลดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน สื่อสารได้ใจลูกน้อง
ซึ่งปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้จะช่วยทำให้บุคลากรในองค์กรมีอัตราการลาออกที่ลดลง องค์กรและฝ่ายบุคคลจึงไม่ต้องสูญเสียเวลา สูญเสียเงิน ในการคัดสรรและพัฒนาบุคลากรใหม่อยู่เรื่อยๆ
การทำงานในองค์กรหรือแม้แต่คนที่ทำงานอิสระเองนั้น ต้องมีการติดต่อประสานงานกับผู้อื่นทั้งสิ้น ดังนั้น ความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมาก
เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะมีความสามารถในการสังเกต ทำความเข้าใจ จัดการ และแสดงออกทางอารมณ์ของตัวเองได้อย่างดี
รวมถึงสังเกตและทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นด้วย ทักษะนี้จะช่วยให้คนทำงานสามารถควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์
การทำงานในธุรกิจไหนหรือองค์กรใดก็ตาม ล้วนต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองาน การเสนอความคิดเห็นทั้งกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้อง
ซึ่งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
โลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในการทำงาน หรือรูปแบบการติดต่อสื่อสาร
ความสามารถในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นทางความคิดจึงสำคัญมาก โดยคนที่มีทักษะในการปรับตัวและเปลี่ยนมุมมองความคิด จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
และยังสามารถพลิกแพลงหาวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี
เพราะการทำงานทุกวันนี้เราต้องทำงานร่วมกับคนที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของสายงาน ช่วงวัยที่ต่างกัน เช่น gen X, gen y, gen z หรือรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน
ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงต้องการคนทำงานที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในทีมตัวเองและการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ
รวมไปถึงทักษะในการบริหารคนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคนทำงานระดับหัวหน้าอีกต่อไป แต่จำเป็นสำหรับคนทำงานในทุกๆ ระดับ
ยุคแห่งข้อมูลมหาศาลที่รอให้เข้าไปขุดค้นออกมา หรือ Big Data กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยให้เราสามารถย่อยข้อมูลจำนวนมากได้
โดยต้องรู้จักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ ระบุปัญหา ประมวลข้อมูล ตีความ ประเมินทางเลือกและตัดสินใจ เพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด และเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่มีความผิดพลาดเลย
เป็นทักษะที่สร้างแนวคิดใหม่ๆ พัฒนาวิธีการใหม่ๆที่แตกต่างจากเดิม ช่วยให้การทำงานดีขึ้นหรือแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
ถือเป็นทักษะที่มีคุณค่า เพราะนำมาใช้กับงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า
ซึ่งองค์กรต่างๆ อยากได้คนที่มีทักษะนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการหยิบเอาเทคโนโลยี วิธีการทำงาน หรือแนวคิดมาใช้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ให้องค์กรด้วย
ทักษะการบริหารเวลาโดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่คนต้องทำงานเร่งรีบแข่งกับเวลา แต่ละวันมีเวลาจำกัดแค่ 24 ชั่วโมง จะใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดังนั้นจึงควรมีการวางแผน ควบคุม กำหนดระยะเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานให้ชัดเจน เพื่อทำให้งานสําเร็จตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด
เนื่องจากทุกวันนี้องค์กรต่างๆ ถูกผลกระทบจากเทคโนโลยี ตลอดจนความหลากหลายของธุรกิจ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างไปจากอดีตและมีความซับซ้อนมากขึ้น
ทำให้ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทักษะนี้ต้องอาศัยหลายทักษะย่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การระบุปัญหาและความต้องการของลูกค้า
มีความเข้าใจในการเชื่อมโยง และการอ่านบริบทของธุรกิจ ตลอดจนต้องสร้างสรรค์วิธีแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ ตามแต่ละสถานการณ์แล้วตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
ในปัจจุบันการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดอาชีพใหม่ๆ ตลอดจนวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น คนทำงานจึงต้องมีการเตรียมพร้อมในการเรียนรู้อยู่เสมอ และต้องทำตัวเองให้เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
Soft Skills คือ ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นสำหรับคนทำงาน ที่จะต้องให้ความสนใจ เรียนรู้ และหมั่นฝึกฝนให้ชำนาญมากขึ้นในหลายๆด้าน
เพราะในอนาคตบุคลากรที่มีความสามารถในการทำงานให้ประสบความสำเร็จจะไม่ใช่มีแค่เพียงทักษะทางวิชาชีพหรือ Hard Skills เท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องมีทักษะด้าน Soft Skills อีกด้วย
ทั้งนี้การจะส่งเสริมทักษะให้แก่บุคคลที่เข้ามาทำงานได้มี Soft Skills เพื่อให้มีความสามารถในการทำความเข้าใจกับตัวเอง สามารถการบริหารจัดการอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีนั้น จะต้องใช้การพัฒนาทักษะแบบระยะยาว
เพราะ Soft Skills เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากการแค่ฟังบรรยายหรืออ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เนื่องจากต้องลงทุนให้เวลากับการเรียนรู้ และลงมือทำนอกห้องเรียนในชีวิตจริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในการปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการอยู่ร่วมในสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพต่างๆ
หากท่านมองหาวิธีพัฒนา Soft Skills ทางบริษัท PALAGRIT เรามีหลักสูตร Soft Skills เชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการท่านได้ในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ หรือแม้กระทั่งเจ้าของธุรกิจได้เป็นอย่างดี สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
Reference :
Wikipedia