ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ความหลากหลายของข้อมูลและสิ่งรบกวนตามสื่อต่างๆได้เข้ามาสู่การรับรู้ของเราอย่างมากมาย ผลกระทบจากความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น คือ แนวโน้มของความเครียดที่จะเพิ่มขึ้นในทุกๆวินาที
หลายครั้งในชีวิตเราจะพบกับช่วงเวลาที่เราต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง หรือพบกับปัญหาที่ทำให้เราเกิดความวิตกกังวล การที่จิตใจของเราโฟกัสไปยังหลายเรื่องพร้อมกัน ความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพในการคิดของเราอาจลดลงได้โดยไม่รู้ตัว เกิดอาการมึนงง ติดขัดในการแก้ปัญหาตรงหน้า
ยิ่งเรานำเอาความวิตกกังวลเกี่ยวกับอดีตที่ฝังใจหรืออนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นมาผสมโรงเข้าไปด้วย เราก็จะยิ่งสับสนและหลงทางได้ง่าย คนที่เป็นผู้บริหารหรือผู้นำทีมงานที่ไม่ตระหนักรู้ถึงปรากฎการณ์เหล่านี้
แล้วรีบร้อนไปวางแผนสิ่งต่างๆเพื่อลบงมือแก้ไขปัญหาในขณะที่ยังขาดสติและขาดข้อมูลจากการมองสิ่งต่างๆได้อย่างชัดเจนไม่มีอคติ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์แก่องค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆได้อย่างเต็มที่
การฝึกสติ (Mindfulness) อย่างถูกวิธี จนกระทั่งเกิดเป็นสมาธิ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้สำหรับการทำงานในยุคนี้ หลายบริษัทชั้นนำทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ได้เริ่มนำแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาสติไปใช้จริง
ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมการทำงานของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม โดยทาง PALAGRIT ได้สรุปความสำคัญของสติ ว่าช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพและมีความสุขได้อย่างไรไว้ดังนี้
ประโยชน์ของสติ (Mindfulness)

1.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสมาธิ (Increase efficiency and concentration)
หลายครั้งที่เราพบว่าตนเองฟุ้งซ่านจากภารกิจต่าง ๆ จนไม่สามารถโฟกัสกับงานที่ทำอยู่ได้อย่างเต็มที่ การนำเทคนิค Mindfulness มาใช้ สามารถช่วยให้เราหยุดพัก และปรับสภาพจิตใจให้มาที่ปัจจุบัน ช่วยให้รู้ตัวเมื่อเริ่มรู้สึกวอกแวก ทำให้เราสามารถกลับมาจดจ่อกับงานได้ดีขึ้น
การฝึกสมาธิและการเจริญสติมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับสุขภาพสมอง และมีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา ซึ่งได้รับการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายพันปี จนถึงยุคปัจจุบัน หลักการเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก หลักสูตร Mindfulness เพื่อส่งเสริมความสุขและประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรด้วยสติ จะช่วยพัฒนาทั้งความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเครือข่ายใหม่ระหว่างเซลล์ประสาทและการทำงานที่ยืดหยุ่นของสมอง “neuroplasticity” ให้เป็นไปในทางบวกได้ดีกว่าเดิม ส่งผลให้ผู้ที่ฝึกสติมีสุขภาพจิตและร่างกายที่ดีขึ้น
พนักงานที่มีสติจึงมีความสามารถในการมีสมาธิจดจ่อไปที่งานที่ทำได้ดีขึ้น ลดการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งรบกวน และทำให้สามารถทำงานและจัดการกับภารกิจต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล (Reduce stress and anxiety)
ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพจิตและลดประสิทธิภาพการทำงานของเรา การฝึกสติ (Mindfulness) เป็นทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้บุคลากรในองค์กรสามารถจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดีและมีสมาธิที่แน่วแน่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภารกิจต่างๆ
โดยการใช้วิธีการฝึกสติในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำตัวเองกลับมาดำรงอยู่กับปัจจุบัน และลดความคิดที่วนเวียนเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคต เช่น เมื่อเรารู้ตัวว่าเริ่มรู้สึกเครียดแล้ว.. การหยุดพักเพื่อหายใจเข้าลึกๆ และกลับมาอยู่กับตัวเอง ด้วยการโฟกัสที่ลมหายใจ เข้า-ออก อย่างผ่อนคลาย จะช่วยให้ความคิดที่ฟุ้งกระจายหรือความรู้สึกในใจที่เหนื่อยอ่อนนั้นค่อยๆผ่านพ้นไป และส่งผลให้เรารู้สึกสงบ สบายและมีสมาธิมากยิ่งขึ้น
การฝึกสติจึงเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการฝึกจิตใจเพื่อให้เกิดสมาธิ แต่ยังช่วยลดความเครียดและสร้างสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

3.ช่วยเพิ่มความพึงพอใจในงาน (Increase job satisfaction)
องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ความเหนื่อยล้าในการทำงาน จะก่อให้เกิดสภาวะหมดไฟหรือความเหนื่อยหน่ายในงาน ส่งผลให้ความสนใจในงานยิ่งมีระยะห่าง และประสิทธิภาพทางวิชาชีพยิ่งลดลง ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าคนที่คิดเรื่องงานอย่างต่อเนื่องมักจะอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิด Burnout มากกว่าคนอื่น ๆ
เหตุเพราะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อว่า การทุ่มเทพลังและความคิดเกี่ยวกับงานอยู่ตลอดเวลาจะช่วยให้ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในสายอาชีพได้เร็วขึ้น
แม้ว่าเราอาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานหนักและการให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานมากกว่าคนอื่นๆจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการก้าวหน้าทางวิชาชีพได้ แต่จริงๆแล้ว การจดจ่ออยู่กับความสำเร็จในงานเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งรอบตัว
ไม่เปิดใจรับรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือยืดหยุ่นพัฒนาไปพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่ปัญหาที่เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น การขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆที่อาจมาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเรา
ทำให้เราทำงานกับผู้อื่นได้ไม่เต็มที่ เกิดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ และรู้สึกว่าไม่มีความสนุกสนานหรือแรงบันดาลใจในงานที่ทำอยู่อีกต่อไปได้
จากข้อมูลการสำรวจของ Gallup พบว่าพนักงานชาวอเมริกันประมาณ 3 ใน 4 ประสบกับภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burn Out) อยู่บ้างในบางครั้ง
ที่แย่กว่านั้นคือ มีพนักงาน 29% ที่ระบุว่ารู้สึกหมดไฟอยู่บ่อยครั้งหรือรู้สึกอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งพนักงานที่ประสบกับภาวะหมดไฟอย่างรุนแรงเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะลาป่วยมากถึง 63%
และมีแนวโน้มว่าจะป่วยจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินมากถึง 23%
การฝึกสติ (Mindfulness) และการสร้างสมาธิในการทำงานจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะหลายครั้งที่เรารู้สึกฟุ้งซ่าน มีความเครียดตกค้าง หรือสูญเสียสมาธิระหว่างการทำงาน จะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ลดลง
ทำให้ยิ่งทุ่มเทเข้าไปมากเท่าไหร่ ผลที่ได้รับกลับยิ่งเป็นไปในทางตรงกันข้าม และเกิดเป็นความไม่พอใจในผลงานและในตนเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของเราโดยตรง เมื่อไม่มีเวลาหรือโอกาสในการผ่อนคลาย ความเครียดที่คั่งค้างอาจพัฒนากลายเป็นภาวะซึมเศร้า (Depression) หรือวิตกกังวล (Anxiety) ได้ง่ายขึ้น
พนักงานที่เล็งเห็นความสำคัญของฝึกสติอย่างต่อเนื่อง จึงรู้จักที่จะผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจในเวลาที่เหมาะสม สามารถคลายจากความคิดคาดหวังที่มากเกินจำเป็น และมักจะมีจุดมุ่งหมายที่มีพลัง เกิดแรงจูงใจในการทำงานจนสามารถสร้างความสำเร็จได้ในระยะยาว ส่งผลให้รู้สึกพึงพอใจกับงานของตนมากขึ้น และสร้างบรรยากาศที่เป็นบวกในองค์กรได้เป็นอย่างดี

4.ช่วยสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Build flexibility and adaptability)
การมีสติในขณะที่ทำงานไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เป็นการลดความเครียด แต่ยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ การฝึกสติจะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นในตัวบุคคล ทำให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆ และรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเรียนรู้วิธีการฝึกสติอย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน รับรู้ถึงความคิดและอารมณ์ของเราได้อย่างมีสติ ผลลัพธ์จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังสนับสนุนแนวทางนี้อย่างชัดเจน โดยพบว่าการมีสติช่วยเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆในที่ทำงาน การมีสติจะช่วยทำให้เรามีความสามารถที่จะหยุดและเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้เรามีส่วนร่วมในทุกๆงานและทุกๆกิจกรรมได้อย่างเต็มที่
เมื่อเราสามารถเปิดใจยอมรับและใส่ใจต่อทุกสิ่งที่กำลังทำอยู่ ลดอาการวอกแวกและความเครียดจากสิ่งรอบข้าง ซึ่งบ่อยครั้งเราอาจพบว่าตัวเองรู้สึกท่วมท้นเมื่ออยู่ในโปรเจกต์ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ปัญหาหรือผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอนอาจทำให้เราจมอยู่กับความกังวล และทำให้สมาธิในการทำงานลดลง
การมีสติจะช่วยในเรื่องของการโฟกัส ให้เราสามารถรับรู้อยู่กับปัจจุบัน และสามารถคิดวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจในตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถมองเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ชัดเจนขึ้น
ทำให้เราสามารถแบ่งเวลาในการจัดการกับอีเมล ข้อความ หรืองานต่างๆได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เบี่ยงเบนความสนใจจากงานหลักในช่วงเวลาที่จำเป็น และสามารถหาวิธีการใหม่ๆในการปรับตัวเพื่อจัดการกับแรงกดดันจากทำงานได้ดียิ่งขึ้น

5. ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในที่ทำงาน (Promote good relationships in workplace)
ในโลกของการทำงานที่เร่งรีบ ที่ทุกคนล้วนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วยมุมมองที่แตกต่างกันตามบทบาทและความรับผิดชอบที่ต้องดูแล เช่น ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ให้บริการอาจมองไปที่ตัวเลขและผลกำไร
ขณะที่ลูกค้ามักจะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ผู้บริหารองค์กรอาจมองไปที่ตัวเลขหรือผลประกอบการและการลดค่าใช้จ่ายที่มีผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท ในขณะที่พนักงานมองไปที่ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจและการได้รับการดูแลเอาใจใส่ถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในที่ทำงาน
ลักษณะของบทบาทและหน้าที่ตามธรรมชาติเหล่านี้ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเกิดการเข้าใจผิด โต้เถียงหรือมีความขัดแย้งต่อกันได้ ซึ่งปัญหานี้ไม่เพียงแต่กระทบถึงตัวเราเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้เราไม่สามารถร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้องค์กรก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
การฝึกสติอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะสะท้อนถึงความรู้สึกของตนเอง และรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้อื่นได้มากขึ้น เมื่อเราได้ฝึกฝนการมีสติ เราจะพัฒนาความสามารถในการหยุดคิดก่อนที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆแทนการตอบโต้แบบอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถเลือกวิธีการตอบสนองที่เหมาะสมแทนที่จะปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบชักนำไป
เพราะขณะที่เรามีความเครียดและพยายามที่จะระบายความเครียดผ่านการพูดคุยกับเพื่อนหรือทีมงานในช่วงเวลาที่จิตใจเต็มไปด้วยความกังวล มันอาจนำไปสู่วิธีการสื่อสารที่ผิดพลาด (Failed Communication) ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน และส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่ตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม
การเสริมสร้างความสามารถที่จะมีสติควบคุมอารมณ์ที่ดี เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะและความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงาน เพราะการฝึกสติจะช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจตนเอง เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี ส่งเสริมการสื่อสารอย่างมีสติและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกลมเกลียว การเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆในทีม และส่งเสริมการทำงานร่วมกันในเชิงบวกระหว่างทีมงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
บทสรุป
จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ PALAGRIT ในการให้บริการจัดฝึกอบรมหลักสูตร Mindfulness และให้คำปรึกษาในการดูแลบุคลากรให้แก่องค์กรระดับประเทศมาแล้วมากมาย
พบว่าการฝึกสติ (Mindfulness) ในที่ทำงานไม่เพียงแต่ช่วยลดความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการสื่อสารในการทำงานร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบันเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง :
https://www.gallup.com/workplace/389057/antidote-manager-burnout.aspx
https://content.time.com/time/subscriber/article/0,33009,2163560,00.html